ข่าวประชาสัมพันธ์
สาระน่ารู้ |
ฝีดาษวานร และ โควิด 19 เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นอกจากโควิด-19 ที่เรารู้จักกันมากขึ้นและรู้จักกันดีแล้วนั้น ก็ยังมีโรคใหม่ที่ทำให้เราตื่นตระหนกขึ้นมากันอีกครั้ง นั่นคือ “โรคฝีดาษวานร” (monkeypox) โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง เป็นโรคที่มีมานานกว่า 50 ปีแล้ว พบครั้งแรกที่ประเทศคองโก ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยมีลิง และสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก เป็นสัตว์พาหะนำเชื้อ ส่วนโควิด-19 เป็นโรคที่เกิดใหม่ราว 2-3 ปี พบการระบาดครั้งแรกในประเทศจีน เป็นโรคที่มีที่มาจากสัตว์เช่นกัน ซึ่งคาดว่าคนรับเชื้อมาจากค้างคาวหรือตัวนิ่ม เมื่อทั้ง 2 โรคที่สร้างความตระหนกให้กับคนบนโลกอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันแบบนี้ ก็จะเกิดข้อสงสัยถึงความเหมือนและความแตกต่างของโรคทั้งสองในหลายประเด็น เชื้อที่ก่อให้เกิดโรค ทั้ง 2 โรคเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยโรคฝีดาษวานรเกิดจากไวรัสชนิดดีเอ็นเอ ส่วนโควิด-19 เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอ ซึ่งไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอมักจะมีการกลายพันธุ์ได้มากกว่าและบ่อยกว่า การติดต่อ โรคฝีดาษวานร เริ่มจากคนรับเชื้อมาจากสัตว์ก่อน แล้วติดต่อกันจากคนสู่คนอีกที โดยจะเกิดจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ หรือสัมผัสกับวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น ผ้าปูที่นอน หรือรอยโรคที่ผิวหนัง เช่น ผื่นที่ผิวหนัง เชื้อจะเข้าสู่ทางผิวหนังที่มีแผล เข้าทางเยื่อบุตา เยื่อบุจมูก และการสูดดม โดยต้องมีการสัมผัสใกล้ชิดเป็นระยะเวลานาน ชนิดหน้าแนบหน้าหรือเนื้อแนบเนื้อ ส่วนการแพร่กระจายทางอากาศมีความเป็นไปได้น้อย การติดต่อระหว่างคนสู่คนของโรคฝีดาษวานรนั้นเกิดขึ้นได้ยากกว่าโควิด-19 และผู้ที่เป็นโควิด-19 อาจแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ก่อนมีอาการ อาการ โรคฝีดาษวานร มีระยะเวลาฟักตัวของเชื้อ (ช่วงเวลาตั้งแต่ได้รับเชื้อจนมีอาการ) นานกว่าโควิด-19 โดยมีระยะเวลาตั้งแต่ 6 – 13 วัน แต่ก็อาจอยู่ที่ 5 – 21 วัน ได้ ส่วนโควิด-19 จะมีระยะเวลาอยู่ที่ 2 – 4 วัน อาการของโรคฝีดาษวานร แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ (1) ระยะก่อนออกผื่น (0 – 5 วัน) ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดศีรษะมาก ปวดหลัง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก และมีภาวะต่อมน้ำเหลืองโตเป็นลักษณะเด่น เมื่อเทียบกับโรคอื่นที่อาจแสดงอาการแรกเริ่มคล้ายกัน เช่น อีสุกอีใส หัด และฝีดาษ (2) ระยะออกผื่น เริ่มภายใน 1 – 3 วันหลังจากมีไข้ ตุ่มผื่นมักขึ้นหนาแน่นบนใบหน้า ตามแขนและขา มากกว่าตามลำตัวและฝ่ามือฝ่าเท้า นอกจากนี้ยังพบผื่นที่เยื่อบุช่องปาก ที่อวัยวะเพศ เยื่อบุตา และกระจกตา โดยผื่นจะมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ เริ่มจากผื่นราบ ผื่นนูน ถุงน้ำ ตุ่มหนอง และแผ่นสะเก็ดที่แห้งจนลอกออกเอง ซึ่งระยะแสดงอาการใช้เวลาตั้งแต่ 2 – 4 สัปดาห์ การวินิจฉัยโรค ทั้ง 2 โรคจะยืนยันการวินิจฉัยด้วยวิธี PCR เหมือนกัน สำหรับโรคฝีดาษวานร แพทย์จะส่งน้ำหรือหนอง และเปลือกที่คลุมผื่นส่งตรวจ PCR ในขณะนี้โควิด-19 มีชุดตรวจด้วยตัวเองหรือ antigen test kit (ATK) แต่สำหรับโรคฝีดาษวานรนั้นยังไม่มีชุดตรวจที่ตรวจด้วยตัวเอง การรักษา ทั้งโรคฝีดาษวานรและโควิด-19 เป็นโรคที่หายได้เอง แต่ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณไวรัสที่ได้รับ โรคประจำตัว และภาวะแทรกซ้อน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น มีไข้ก็ใช้ยาลดไข้ เป็นต้น ส่วนการรักษาด้วยยาต้านไวรัสสำหรับโรคฝีดาษวานรนั้น ในขณะนี้มีชนิดเดียวชื่อ tecovirimat ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้รักษาโรคฝีดาษ และได้รับอนุมัติให้ใช้รักษาโรคฝีดาษวานรโดยสมาคมการแพทย์แห่งยุโรป (EMA) ในปีพ.ศ. 2565 ตามข้อมูลการวิจัยในสัตว์และมนุษย์ เป็นยาชนิดรับประทาน แต่ยาชนิดนี้ยังไม่มีใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วไป ยังต้องมีการติดตามตรวจสอบผลการรักษาจากการวิจัยทางคลินิกที่มีการเก็บข้อมูลเพื่อติดตามผลในอนาคต ส่วนการรักษาโควิด-19 ก็มีการพัฒนายาต้านไวรัสอยู่เรื่อย ๆ ที่จำเพาะ ทำให้มีทางเลือกในการรักษามากยิ่งขึ้นการป้องกันด้วยวัคซีน วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ และป้องกันได้ร้อยละ 85 นอกจากนี้ยังมีวัคซีนรุ่นใหม่ ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับป้องกันโรคฝีดาษวานรโดยเฉพาะ แต่เนื่องด้วยวัคซีนที่มีจำนวนอยู่อย่างจำกัด และเมื่อคำนึงถึงกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคและความรุนแรงของโรคแล้วนั้น คำแนะนำในการฉีดวัคซีนนี้ จะไม่เหมือนคำแนะนำในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่แนะนำว่าทุกคนควรได้รับ วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานร จึงจะเป็นวัคซีนเฉพาะกลุ่มที่ใช้สำหรับการป้องกันในกลุ่มเสี่ยงก่อนที่จะได้รับเชื้อ ได้แก่ แพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยและบุคลากรที่ทำงานในห้องปฏิบัติการ อีกข้อบ่งชี้หนึ่งของวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานรคือ เพื่อการป้องกันหลังได้รับเชื้ โดยให้วัคซีนภายใน 4 วันหลังจากสัมผัสผู้ป่วยใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรค การป้องกันอื่น ๆ นอกจากวัคซีน การป้องกันการติดเชื้อจากสัตว์สู่คนสำหรับโรคฝีดาษวานร คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าโดยไม่ป้องกัน โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่ป่วยหรือตาย รวมทั้งสัมผัสเนื้อสัตว์ เลือด และชิ้นส่วนอื่น ๆ นอกจากนี้ อาหารทุกชนิดที่มีเนื้อสัตว์หรือชิ้นส่วนอื่น ๆ ต้องทำทำให้สุกก่อนรับประทานการลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อจากคนสู่คน ทั้งโรคฝีดาษวานรและโควิด-19 มีความคล้ายกันคือ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ติดเชื้อและผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างและหมั่นล้างมือบ่อย ๆ แต่สิ่งที่โรคฝีดาษวานรที่ไม่เหมือนกับโควิด-19 คือ คำแนะนำในการงดมีเพศสัมพันธ์ ถึงแม้ว่ายังไม่แน่ชัดว่าโรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่ การสวมถุงยางอนามัยไม่ได้เป็นการป้องกันโรคฝีดาษวานร แต่การมีเพศสัมพันธ์เป็นกิจกรรมที่มีการใกล้ชิดกันเป็นอย่างมาก ถือเป็นความเสี่ยงของการเป็นฝีดาษวานรได้ โรคฝีดาษวานรและโควิด-19 มีความแตกต่างกันพอสมควร การทราบถึงความแตกต่างนี้ จะทำให้รู้จักโรคและการป้องกันตนเองได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความตระหนกตื่นกลัวจนเกินไป ข้อมูลจาก: www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/infographic/monkeypox/ |
วันที่โพส 18 ส.ค. 2565 |